โครงการ พัฒนาสู่ความเป็นเลิศในการดูแลแผลกดทับ
หลักการและเหตุผล
แผลกดทับ เป็นหนึ่งในปัญหาเรื้อรังที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ทำให้ผู้ป่วยใช้เวลาในการรักษานานขึ้น ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และเกิดผลกระทบทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมของผู้ป่วยและครอบครัว จากการเฝ้าระวังอุบัติการณ์การเกิดแผลกดทับ ในโรงพยาบาลราชวิถี พบว่า มีผู้ป่วยที่เกิดแผลกดทับในอัตราที่สูงขึ้นจาก ปี 2558 คือ 3.44 เป็น 4.92 และ4.66 ตามลำดับ1 ซึ่งไม่เป็นไปตามความคาดหมาย โดยพบว่ามีแผลกดทับ ระดับที่ 3 และ 4 ที่มีอัตราการเกิดสูงขึ้นในปัจจุบัน นับเป็นสิ่งท้าทายพยาบาลในการลดอัตราการเกิดแผลกดทับดังกล่าว เพราะในด้านบริการพยาบาล การเกิดแผลกดทับของผู้ป่วยแสดงถึงผลลัพธ์ด้านคุณภาพการพยาบาลที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ยังเป็น 1 ใน 5 ตัวชี้วัดสำคัญของผลลัพธ์บริการพยาบาลในระดับชาติ
บุคลากรทางการพยาบาล มีความสำคัญในการดูแลผู้ป่วย หากมีความรู้ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง มีการทบทวนวิธีการและประเมินสมรรถนะสม่ำเสมอ จะทำให้บุคลากรมีความตระหนัก จะช่วยให้ผู้ป่วยปลอดภัย ลดอัตราการเกิดแผลกดทับและภาวะแทรกซ้อนที่ตามมา กลุ่มภารกิจด้านการพยาบาล เห็นความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยดังกล่าว ในปีที่ผ่านมาได้พัฒนาบุคลากรทุกระดับให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะในการดูแลผู้ป่วย และก้าวทันเทคโนโลยีและวิทยาการที่ทันสมัยในการรักษา ให้ครอบคลุมบุคลากรพยาบาล และผู้ปฏิบัติงานใหม่ การให้ทุกองค์ประกอบของการดูแลผู้ป่วย ได้แก่ บุคลากรพยาบาล ผู้ดูแล ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการทบทวนวิธีการป้องกันและดูแลผู้ป่วย การนิเทศและเทียบเคียงคุณภาพการดูแลกับโรงพยาบาลต่างๆในเครือข่าย แม้จะพบว่าระดับการเทียบเคียงอยู่ในระดับดี แต่อัตราชุกของการเกิดแผลกดทับและอัตราการหายของแผล ยังไม่ได้ตามเป้าหมายโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยวิกฤติ ออร์โธปิดิกส์ ระบบประสาทและผู้ป่วยมะเร็งที่ได้มีการพัฒนาแนวทางการดูแลเฉพาะกลุ่มโรคของเครือข่ายของเขตกรุงเทพมหานคร จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อพัฒนามาตรฐานบริการพยาบาลในการดูแลป้องกันแผลกดทับให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์โรงพยาบาลราชวิถี ที่ 2 พัฒนาบริการทางการแพทย์ที่เป็นเลิศและสมคุณค่า ต่อไป
วัตถุประสงค์
- ลดอัตราการเกิดแผลกดทับ ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยวิกฤติ กลุ่มโรคออร์โธปิดิกส์ และกลุ่มโรคมะเร็ง ฯลฯ
- ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสำคัญได้แก่ กลุ่มวิกฤติ กลุ่มโรคออร์โธปิดิกส์ และกลุ่มโรคมะเร็ง เป็นแนวทางเดียวกัน
- บุคลากรพยาบาล /ผู้ดูแล มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ รวมทั้งการจัดการความเสี่ยงได้
- ผู้ปฏิบัติงานสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ ใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ ได้อย่างถูกต้อง
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ ลดอุบัติการณ์การเกิดแผลกดทับ และผู้ป่วย/ผู้ดูแล พึงพอใจ
- อัตราการเกิดแผลกดทับลดลง ลดอุบัติการณ์ในกลุ่มวิกฤติ กลุ่มออร์โธปิดิกส์ และกลุ่มโรคสมอง
- ญาติ/ผู้ดูแลที่และบุคคลทั่วไป มีความรู้ ความเข้าใจ ในการดูแลผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ
- อัตราความชุกของการเกิดแผลกดทับอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ และผลการเทียบเคียงอยู่ในระดับดี